พระพุทธศาสนาในไทย
   วันสำคัญทางศาสนา
   พระธรรมคำสอน
   บทสวดมนต์
   หนังสื่อธรรมะ
   ประวัติวัดบางโพ
   ความเป็นมาของวัด
 
   ธรรมจักร
   ฟังธรรมดอทคอม
   พลังจิตดอทคอม
   ลานธรรมเสวนา
   ธรรมเดลีเวอรี

กลับหน้าแรกของเว็บครับ

พระธรรมคำสอน

  1. หลักการหรือคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา

    ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายที่ได้ทรงตรัสรู้ไว้ ถ้านับเป็นธรรมขันธ์ (หัวข้อ)แล้วมีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมแก่อุปนิสัยใจคอ จริต ฐานะ หรือ ระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ของผู้ประพฤติในรายละเอียดอาจมีต่างๆกันไป แต่ในหลักการใหญ่หัวข้อธรรมเหล่านั้นทั้งหมดแม้จะมีมากมายเท่าไหร่ก็พอรวมลงได้ในหลักทั่วๆไป ๓ ประการ คือ

    ๑. ละเว้นความชั่ว อะไรก็ตามที่ทำไปทางกาย พูดทางวาจา หรือคิดทางใจแล้วจะยังผล
                    (๑) ทำให้ตนเองเดือดร้อน
                    (๒) ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
                    (๓) ทำให้ทั้งตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
                    (๔) ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่น
    สิ่งเหล่านั้นจัดว่าเป็นความชั่ว จะต้องงด ลด ละ สละ เว้น หลีกเลี่ยง ห่างไกลให้ได้

    ๒. หลักประพฤติความดี อะไรก็ตามที่ทำไปทางกาย พูดทางวาจา หรือคิดทางใจแล้วจะยังผลดี
                   (๑) ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน
                   (๒) ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
                   (๓) ไม่ทำให้ตนเองและทั้งผู้อื่นเดือดร้อน
                   (๔) เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
    สิ่งเหล่านั้นจัดว่า เป็นความดี ใครประพฤติปฏิบัติเข้าก็เรียกว่า ประพฤติดี ทุกคนควรประพฤติแต่ความดี

    ๓. หลักชำระใจให้สะอาด อะไรก็ตามที่ทำให้สิ่งที่ทำ คำที่พูด อารมณ์ที่คิด แล้วทำให้จิตใจสะอาด ประณีตสูงส่ง ด้วยคุณธรรม มโนธรรม เช่น ทาน สันโดษ เมตตากรุณา ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องขจัดความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจให้บรรเทาเบาบาง จางหาย สูญสิ้นไปจากจิตใจ วิธีการมีหลายวิธ๊ เช่น ด้วยการรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ฝึกสมาธิ และวิปัสสนาภาวนา เป็นต้น อย่าลืมว่า จิตใจเป็นใหญ่เป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น หลักการชำระจิตใจให้สะอาดประณีตจึงเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะสามารถชำระจิตใจให้สะอาดประณีตถึงขั้นสูงสุด คือ หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งมวล เป็นผู้มีภาวะจิตบริสุทธิ์โดยแท้ เรียกว่า พระวิสุทธิคุณ แม้คนธรรมดาสามัญจะได้นามว่าเป็นพระอริยะสงฆ์ จบกิจพระศาสนาก็เพราะเข้าถึงหลักทั่วไปที่ ๓ คือ สามารถทำตนให้บรรลุภาวะจิตบริสุทธิ์นี้เอง


    หลักทั่วไปทั้ง ๓ ดังกล่าว เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังพระบาลีที่ว่า
                 บาลี:                      สพฺพปาปสฺส อกรณํ                     กุสลสฺสูปสมฺปทา
                                             สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ                    พุทฺธาน ศาสนํฯ
                 คำแปล:                   การไม่ทำความชั่วทั้งปวง            การบำเพ็ญความดีให้เกิดขึ้น
                                              การชำระจิตใจของตยให้ผ่องใส        นี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
               english:                      Never do any evil.                 Always do good.
                                               Purify your minds.                   These are the Buddhas’s instructions.
  2. ลักษณะธรรมในพระพุทธศาสนา
                            พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงลักษณะธรรมไว้ ๘ อย่าง ดังนี้ คือ

                                  ๑.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อกำหนัดย้อมใจ
                                  ๒.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์
                                  ๓.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส
                                  ๔.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อปรารถนาใหญ่
                                  ๕.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ(คือมีแล้วอย่างนี้ อยากได้อย่างนั้น)
                                  ๖.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
                                  ๗.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
                                  ๘.ธรรมนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
                       
อริยสัจ ๔ 

อริยสัจ ๔ ประการ ได้แก่
            ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่ชื่อว่าทุกข์เพราะทนได้ยาก
            ๒. สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา คือความทะยานอยาก
            ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ดับตัณหาให้สิ้นเชิง
            ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่อริยมรรค ๘ ประการ

อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดแจ้งในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจักวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันนี้เรียกว่า "สารนาถ" ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ที่เราเรียกวันนี้ว่า "อาสาฬหบูชา"พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปฐมเทศนา" คือ การเทศกัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้ว ปฐมเทศนามีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างสมบูรณ์ คำว่า "สัจจะ" แปลว่า ความจริง มี ๔ ประการ คือ
           ๑. สมมุติสัจ ความจริงโดยการสมมุติ คือความจริที่ไม่เป็นจริง เพียงแต่เราสมมุติขึ้นเท่านั้น
          ๒. สภาวสัจ ความจริงโดยสภาวะ คือความจริงที่เป็นจริง ซึ่งได้มาจากการค้นคว้าวิจัย ทดลองจนสามรถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น
          ๓. อันติมสัจ ความจริงขั้นสุดท้าย หมายถึงความจริงที่ได้วิเคราะห์จนถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรจริงยิ่งไปกว่านั้น
          ๔. อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐทำให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งหลายกลายเป็นหระอริยเจ้า

อริสัจข้อที่ ๑ ทุกข์
คำว่า "ทุกข์" นี้ ตามความหมายทั่วไป ก็หมายถึงความทุกข์มาน ความเจ็บปวดความโศกเสร้า เสียใจ แต่คำว่าทุกข์ใน
อริยสัจข้อที่ ๑ นี้ เป็นความทุกข์ที่แฝงทัศนะทางพุทศาสนาเกี่ยวกับชีวิตและโลกเอาไว้ ย่อมมีความหมายทางปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า คำว่า ทุกข์ ในอริยสัจ ข้อที่ ๑ นั้น รวมถึงความหมายของทุกข์ตามปรกติธรรมดา เช่น ทุกข์ทรมาน ความเจ็บ ปวด เข้าไว้ด้วย และรวมถึงความคิดที่ลึกซึ้งเข้าไปด้วยกันด้วย เช่น ความไม่แน่นอน ความว่างเปล่า ความไม่สมหวัง ความไม่มีแก่นสาร เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสทุกข์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตร ตอนที่ว่าด้วยอริยสัจได้แบ่งทุกข์ออกเป็น ๒ ประการคือ
         ๑. สภาวทุกข์ ทุกประจำ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นทุกข์
         ๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร ได้แก่ ความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำไห้ รำพัน ความผิดหวัง เป็นทุกข์
อริยสัจข้อที่ ๒ สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุเกิดทุกข์ อันเกิดจากตัณหาคือ ความอยากที่มุอยู่ในจิตใจของแต่ละคนทำให้คนเกิดทุกข์ในขณะที่ลีทธิต่าง ๆสอนว่า ความทุกข์นั้นเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ บันดาลให้มนุษย์เป็นไปต่าง ๆ กัน แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่ตัณหา คือความอยากเท่านั้นว่าทำให้คนเกิดทุกข์ 
ตัณหา ๓ ได้แก่
         ก. กามตัณหา อยากได้กามคุณ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จัดเป็นกามตัณหา
         ข. ภวตัณหา อยากได้ในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
         ค. วิภวตัณหา อยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น เช่นอยากหนีภาวะที่คับแค้น
อริยสัจข้อที่ ๓ นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การสละ การสลัดออก ความดับทุกข์ ได้แก่ นิพพานนั่นเอง คำนิยามของ นิพพาน หมายถึง การดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหา ความว่า ความปล่อยวาง ความไม่อาลัย "ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืออุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ คือ นิพพาน"

อริยสัจข้อที่ ๔ มรรค
มรรค แปลว่า หนทาง หมายถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มรรคนี้เป็นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เพราะมีทางปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปคือ
๑.ประเภทที่หย่อนเกินไป ร่างกายและจิตใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกามารมณ์ เรียนว่า กามสุขัลลิกานุโยค
๒. ประเภทที่ตึงเกินไป มีการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก ทุกข์ทรมานอย่างหนักเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
การบำเพ็ญทั้งสองวิธีนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองมาแล้วตอนบำเพ็ญทุกรกิริยาก่อนตรัสรู้ เมี่อทดลองจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่พ้นทุกข์จึงได้ค้นพบวิธีปฏิบัติใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป เป็นการปฏิบัติอยู่ในสายกลาง ทางสายกลางนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
                         ๑. ความเห็นชอบ
                         ๒. ความดำริชอบ
                         ๓. การเจรจาชอบ
                         ๔. การงานชอบ
                         ๕. เลี้ยงชีพชอบ
                          ๖. พยายามชอบ
                         ๗. ระลึกชอบ
                         ๘. ตั้งใจชอบ

อริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้ ถือว่าเป็นหลักคำสอนที่คลุมธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะทางสายกลางทั้งหมดนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงสายกลางนี้ตลอดมาเป็นระยะเวลานาน แก่บุคคลหลายประเภทที่แตกต่างกัน ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถของแต่ลบุคคลที่จะเข้า
ใจและปฏิบัติตามพระองค์ได้การปฏิบัติตามมรรค ๘ ประการ หรือทางสายกลางนี้ต้องทำให้เกี่ยวเนื่องกันครบทุกข้อ แต่ละข้อเป็นทางปฏิบัติที่
สัมพันธ์กัน มรรคทั้ง ๘ ประการนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การอบรมฝึกฝนตนตามหลักสูตรของพระพุทธศาสนาซึ่งมีสาระ
อยู่ ๓ ประการ คือ
            ก. การประพฤติตามหลักจรรยา (ศีล)
           ข. การฝึกฝนอบรมทางใจ (สมาธิ)
           ค. การให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง (ปัญญา)
หลักการรู้อริยสัจ ๔ 
การรู้อริยสัจนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการรู้ที่แน่นอนตายตัว การรู้อริยสัจที่ถือว่าจบเกณฑ์นั้น จะต้องรู้ ๓ รอบ รู้ในญาณทั้ง ๓ คือสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เรียกว่า ปริวัติ ครั้งละ ๔ รวมเป็น ๑๒ ครั้งดังนี้
รอบที่ ๑ สัจจญาณ คือรู้ว่า
        ๑. ทุกข์มีจริง ชีวิตคลุกเคล้าด้วยควมทุกข์จริง
        ๒. สมุทัย เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง
        ๓. นิโรธ ความดับทุกข์มีจริง
        ๔. มรรค เป็นทางไปสู้ความดับทุกข์จริง
รอบที่ ๒ กิจจญาณ คือรู้ว่า
       ๑. ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
       ๒. สมุทัย เป็นสิ่งที่ควรละ
       ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ
       ๔. มรรค ควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้น
รอบที่ ๓ กตญาณ คือรู้ว่า
      ๑. ทุกข์ เราได้กำหนดรู้แล้ว
      ๒. สมุทัย เราได้ละแล้ว
      ๓. นิโรธ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
      ๔. มรรค เราได้บำเพ็ญให้เกิดมีครบถ้วนแล้ว

ไตรลักษณ
ไตรลักษณ์ เป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
           ๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง
           ๒. ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้
           ๓. อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน
ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น มิใช่หมายความว่าเป็นการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้น ๆ อัน ๆ อยู่แล้วมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างคุมกันอยู่เหมือนเมื่อเอาวัตถุต่าง ๆ มาราวมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ความจริงที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ในเบื้องต้นเท่านั้น แท้จริงแล้วสิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่น ๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันอิสระ ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อง ไม่เที่ยงไม่คงที่กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไปอย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นไป 

ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่งความเป็นไปต่างๆทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติอาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นกฎธรรมชาติมีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวดที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์แลปฏิจจสมุปบาท ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ ไตรลักษณ์ มุ่งแสดงลักษณืของสิ่งทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไป่โดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท ส่วนหลักปฏิจจสมุปบาทก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนมองเห็นลักษณ์ได้ว่าเป็นไตรลักษณ์

กฎธรรมชาตินี้ เป็น ธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่ หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดาไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใด ๆ กฎธรรมชาตินั้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านั้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลกไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้"ตถาคต ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
            ๑. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง.............
            ๒. สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์..............
            ๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา................
ตถาคตตรัสรู้เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า " สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง......สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์.............ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา.......ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณ์ แปลว่าลักษณะที่ทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวงซึ่งได้ความหมายเท่ากัน

คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
ถ้ายกเอาหลักธรรมนิยามที่แสดงไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณธ ๓ อย่าง มาตั้งเป็นหัวข้ออีกครั้งหนึ่งเพื่ออธิบายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามแนวหลักวิชาที่มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังนี้
            ก. สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
            ข. สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์
            ค. ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรียกตามคำบาลีว่า เป็น อนิจจ์ หรือ อนิจจะ แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่า อนิจจังความไม่เที่ยง ความเป็นสิ่งไม่เที่ยง หรือภาวะที่เป็นอนิจจ์รหืออนิจจัง นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนิจจตา ลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยงเรียกเป็นศัพท์ว่า อนิจจลักษณะ
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ในภาษาไทย บางที่ใช้อย่างภาษาพูดว่า ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ความเป็นสภาวะมีความบีบคั้นขัดแย้ง หรือภาวะที่เป็นทุกข์นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า ทุกขตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นทุกข์เรียกเป็นศัพท์ว่า ทุกขลักษณะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน หรือภาวะที่เป็นอนัตตานั้นเรียกเป็นคำศักพท์ตามบาลีว่า อนัตตตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอนัตตา เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อนัตตลักษณะ

สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง
"ธรรม" เป็นคำที่มีควมหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดกระทั่งความไม่มีที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้มีความหมายแคบเข้า หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเขาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิม แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้น ๆ ในกรณีนั้นหรือในความแวดล้อมอย่างนั้น ๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น ๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึงปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น ธรรม ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดจำกัด ธรรม ในความหมายเช่นนี้จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมือแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรมบ้าง โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมบ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรมและอกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมบ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงแยกประเภทได้เป็น ๒ อย่างคือ
๑. สังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งปลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้นสิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้าหรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขารซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกันหมายถึงสภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน

๒. อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขารหรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน

สังขารในขันธ์ ๕ กับสังขารในไตรลักษณ์
          ๑. สังขารในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
          ๒. สังขารในไตรลักษณ์ ได้แก่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

เปรียบเทียบความหมายทั้ง ๒ นัยดังนี้
          ก. สังขาร ซึ่งเป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็นกลาง ได้แก่ คุณสมบัติต่างๆของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำที่ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจและการแสดงออกทางกายวาจาให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นตัวการของการทำกรรม เรียกง่าย ๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ เป็นต้น

         ข. สังขาร ที่กล่าวถึงในปตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัย ปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ประดามี ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เป็นด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม อยู่ในจิตใจหรือวัตถุภายนอกก็ตาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นนิพพานจะเห็นว่า สังขาร ในขันธ์ ๕ มีความหมายแคบกว่า สังขาร ในไตรลักษณ์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง ความต่างกันและแคบกว่ากันนี้ เห็นได้ชัดทั้งโดยความหมายของศัพท์และโดยองค์ธรรม

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ และอนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมนี้ คือ
            ๑. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
            ๒. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ
            ๓. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ

ข้อที่ ๑ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับหรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปก็ถูก  สันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ
ข้อที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ก็ถูก อิริยาบถ คือ ความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ
ข้อที่ ๓ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่าง ๆ ก็ถูก ฆนะ คือความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวลหรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ อนัตตลักษณจึงไม่ปรากฏ

ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องไตรลักษณ์
        ๑. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนิจจัง เมื่อได้เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะได้ประโยชน์หลายประการ ดังนี้
           ก. ความไม่ประมาท ทำให้คนไม่ประมาทมัวเมาในวัยว่ายังหนุ่มสาว ในความไม่มีโรคและในชีวิต เพราะความตายอาจมาถึงเมื่อไรก็ได้ไม่แน่นอน ทำให้ไม่ประมาทในทรัพย์สิน เพราะคนมีทรัพย์อาจกลับเป็นคนจนได้ 
ทำให้ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะผู้ที่ไร้ทรัพย์ ไร้ยศ ต่ำต้อย กว่าภายหน้าอาจมีทรัพย์ มียศ และเจริญรุ่งเรืองกว่าก็ได้เมือคิดได้ดังนี้จะทำให้สำรวมตน อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง วางท่าใหญ่ ยกตนข่มท่าน

         ข. ทำให้เกิดความพยายาม เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะรู้ว่าถ้าเราพยายามก้าวไปข้างหน้าแล้วชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
         ค. ความไม่เที่ยงแท้ ทำให้รู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เมื่อประสบกัยสิ่งไม่พอใจ ก็ไม่สิ้นหวังและเป็นทุกข์ ไม่ปล่อยตนไปตามเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกินไป พยายามหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี
         ๒. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องทุกขัง เมื่อผู้ใดได้เรียนรู้เรื่องความทุกแล้ว จะรู้ว่า ความทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก อย่างหนึ่งซึ่งใคร ๆ จะหลีกเลี่ยงได้ยาก ต่างกันก็แต่เพียงรูปแบบของทุกข์นั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่ชีวิต ผู้มีปัญญาตรองเห็นความจริงว่าความทุกข์เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมระคนด้วยทุกข์เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเป็นธรรมดา ความยึดมั่นก็มีน้อย ความทุกข์สามารถลดลงได้หรืออาจหายไปเพราะไม่มีความยึดมั่น ความสุขที่เกิดจากการ
ปล่อยวางย่อมเป็นสุขอันบริสุทธิ์ 

๓. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนัตตา
การเรียนรู้เรื่องอนัตตา ทำให้เรารู้คามจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องถูกหลอกลวง จะทำให้คลาย 
ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้ไม่ยึดมั่น เบากาย เบาใจ เพราะเรื่องอนัตตาสอนให้เรารู้ว่า สังขารทั้งปวง เป็นไปเพื่ออาพาธ ฝืนความปรารถนา บังคับบัญชาไม่ได้อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเองจะต้องพบกับ
ธรรมชาติแห่งความเจ็บปวด ความแก่ชรา และความตายจากครอบครัวและญาติพี่น้องตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่าง
เบญจขันธ์
         พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่าง ๆที่ มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อย ๆ คือ "รถ" เมื่อนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกว่า "รถ" แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลายซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนปะกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า "รถ" สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ นั้นเองก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อย ๆ ต่อ ๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมเข้าด้วยกันเมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของกรประชุมส่วนประกอบนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจการแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้น ๆแต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตรโดยวิธิแบ่งแบบขันธ์ ๕ พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์ คือ

๑. รูป ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานเหล่านั้น
๒. เวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
๓. สัญญา ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษระต่าง ๆ อันเป็นเกตุให้จำอารมณ์นั้น ๆ ได้
๔. สังขาร ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิดมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่าย ๆ ว่าเครื่องปรุงของความคิดหรือเครื่องปรุงของกรรม
๕. วิญญาณ ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจขันธ์ ๔ ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและเพื่อป้องกันความสับสน ดังนี้

สัญญา 
เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะ ทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมุติบัญญัติต่าง ๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เป็นต้นการหมายรู้หรือกำหนดนั้ อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับประสบการหรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่นพบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้วถ้าประสบการใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์หรือความรูเก่าที่มีอยู่แล้วนั้นเองมาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนกันในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่ อย่างนี้เรียกว่า กำหนดหมายหรือหมายรู้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป ขอแยกสัญญาออกอย่างคร่าว ๆ เป็น ๒ ระดับ คือ

๑. สัญญาระดับสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมันอย่างหนึ่ง

๒. สัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง ปปัญจสัญญา อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหามานะและทิฏฐิซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้ายอีกอย่างหนึ่งการแยกเช่นนั้จะช่วยให้มองเห็นความหมาย
ของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วิญญาณ
แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้นหรือความรู้ที่เป็นตัวยืนเป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่น ๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน เป็นต้น(เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ(เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่(สัญญา)จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ (สังขาร)เช่น เห็นท้องฟ้า(วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ(เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสาย ฟ้าบ่าย ฟ้าสวย(สัญญา)

เวทนา
แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกัยเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม

สังขาร
หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำและกระบวนการแห่งเจตน์จำนงที่ชักจูง เลือกรวบรามเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสบปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ

สัญญา - สติ - ความจำ
มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่าสัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ คำว่า สติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ และมีตัวอย่างที่เด่นเช่นพระอานนท์ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่าสติ ดังพุทธพจน์ว่า "อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ"เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มีความสับสนความไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจกรรมของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุดสัญญาก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำอีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยุ่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายอของกระบวนการทรงจำ ข้อที่พึงกำหนดหมายและระลึกไว้อย่าง สำคัญคือ สัญญาและสติทำหน้าที่คนละอย่างในกระบวนการทรงจำ

สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา
สัญญา วิญญาณ ปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ทั้ง ๓ อย่าง แต่เป็นองค์ธรรมต่างข้อกัน และอยู่คนละขันธ์ สัญญา เป็นขันธ์หนึ่ง วิญญาณเป็นขันธ์หนึ่ง ปัญญาอยู่ในสังขารก็อีกขันธ์หนึ่ง สัญญาและวิญญาณได้พูดมาแล้วพอเป็นพื้นความเข้าใจ ปัญญา แปลกันมาว่า ความรอบรู้ เติมเข้าไปอีกว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด คือ รู้ทั่วถึงความจริงหรือตรงตามความเป็นจริง ท่านอธิบายขยายความกันออกไปต่าง ๆ กัน เช่นว่า รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู่เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุรู้ปัจจัย รู้ที่ไปที่มา เป็นต้น ปัญญาตรงข้ามกับโมหะ ซึ่งแปลว่าความหลง ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด สัญญาและวิญญาณหาตรงข้ามกับโมหะไม่ อาจกลายเป็นเหยื่อของโมหะไปด้วยซ้ำ เพราะเมื่อหลง เข้าใจผิดไปอย่างใดก็รับรู้และกำหนดหมายเอาไว้ผิด ๆ อย่างนั้น ปัญญาช่วยแก้ไขให้วิญญาณและสัญญาเดินถูกทาง สัญญา และวิญญาณ อาศัยอารมณ์ที่ปรากฏอยู่จึงทำงานไปได้ สร้างภาพเห็นภาพขึ้นไปจากอารมณ์นั้น แต่ปัญญาฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ ริเริ่มกระทำต่ออารมณ์ เชื่อมโยงอารมณ์นั้นกับอารมณ์นี้กับอารมณ์โน้นบ้าง พิเคราะห์ส่วนนั้นกับส่วนนี้กับส่วนโน้นของอารมณ์บ้างเอาสัญญาอย่างโน้นอย่างนี้มาเชื่อมโยงกันหรือพิเคราะห็ออกไปบ้าง มองเห็นเหตุ เห็นผล เห็นความสัมพันธ์ ตลอดถึงว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหาเรื่องมาให้วิญญาณและสัญญารับรู้และกำหนดหมายเอาไว้อีก

 

 
วัดบางโพโอมาวาส เลขที่ ๙๐ ถนนประชาราษฏร์สาย ๑ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ๑๐๘๐๐
ติดต่อ โทร. ๐-๒๙๑๒-๗๔๗๖ , ๐-๒๕๘๗-๑๖๕๔ , โทรสาร ๐๘๙-๕๑๔-๗๘๘๙
ผู้ดูแลเว็บ อีเมล์ : vatbang@gmail.com
 Copyright © 2010 watbangpho All Right Reserved
Free Web Hosting